วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติและอภินิหารพระพุทธโสธร

หลวงพ่อโสธร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๕ ฟุต ๖ นิ้ว สูง ๖ ฟุต ๗ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ในวัดโสธรวราราม อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นมิ่งขวัญของชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา และจังหวัดใกล้เคียง พุทธศาสนิกชนทั้งไทยและจีนมีความเคารพสักการะมาก หลวงพ่อพุทธโสธรนี้ได้ประดิษฐานอยู่ที่วัดโสธร ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๓๑๓ จนตราบเท่าทุกวันนี้ เป็นที่ปรากฏเลื่องลือว่ามีอภินิหาร และความศักดิ์สิทธิ์มหัศจรรย์ยิ่งนัก ดังมีคำเล่าลือสืบต่อกันมาว่า


มีพระพี่น้องรูปร่างคล้ายกันมาก อยู่ทางเมืองเหนือ ได้สำเร็จวิชาสามารถจำแลงแปลงกายได้ ได้เนรมิตตนเป็นเป็นพระพุทธรูปลอยล่องมาตามลำน้ำบางปะกง พอถึงบ้านสัมปทวน ได้สำแดงฤทธิ์ลอยทวนกระแสน้ำ ประชาชนชาวสัมปทวนได้พบเห็น จึงพร้อมใจกันเอาเชือกพวนมนิลาลงไปผูกมัดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ แล้วชักชวนคนประมาณ ๕๐๐ คน ช่วยกันฉุดพระพุทธรูปทั้งสามองค์ขึ้นแต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เชือกที่ผูกขาดสะบั้นลงไป ผลสุดท้ายก็ไม่สามารถเอาพระพุทธรูปทั้งสามขึ้นจากน้ำได้ พระพุทธรูปทั้งสามองค์จมน้ำหายไปบริเวณที่พระพุทธรูปลอยทวนน้ำนั้นเรียกว่า สามพระทวน ต่อมาสำเนียงก็หดสั้นเข้ากลายเป็น สัมปทวน ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมืองฉะเชิงเทรามาตราบเท่าทุกวันนี้


ครั้นต่อมา พระพุทธรูปทั้งสามได้ลอยตามลำน้ำบางปะกง เลยหน้าวัดโสธร ได้สำแดงฤทธานุภาพผุดขึ้น ชาวบ้านแถบนั้นแลเห็นก็ช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งอีก แต่ก็ไม่สำเร็จจนเรียกหมู่บ้านนั้นว่า บางพระ มาจนทุกวันนี้


ต่อแต่นั้นมา พระพุทธรูปทั้งสามองค์ก็สำแดงฤทธิ์ลอยทวนน้ำมา ลอยวนอยู่ที่หัวเลี้ยวตรงกองพันทหารช่างที่ ๒ ฉะเชิงเทรา และได้สำแดงอภินิหารเข้าไปในคลองเล็ก ๆ ตรงกันข้ามกองพันทหารช่างนั้น บริเวณที่พระพุทธรูปลอยวนนั้นเรียกว่า แหลมลอยวน และคลองนั้นเรียกว่า คลองสองพี่น้อง


หลังจากนั้นองค์พี่ได้แสดงปาฎิหาริย์ ลอยไปอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนสามเสน ประชาชนสามแสนคนช่วยกันฉุดขึ้นฝั่งก็ไม่สำเร็จ ตำบลที่ฉุดนั้นจึงได้นามว่า สามแสน ต่อมาเรียกเพี้ยนเป็น สามเสน จนกระทั่งทุกวันนี้ ต่อจากนั้นพระพุทธรูปองค์พี่ได้ลอยไปผุดขึ้นที่ลำแม่น้ำแม่กลอง จังหวัดสมุทรสงคราม ประชาชนชาวประมงได้พร้อมใจกันอาราธนาอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ที่บ้านแหลม เลยเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดบ้านแหลม เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวจังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดใกล้เคียงมาก ส่วนพระพุทธรูปองค์น้องสุดท้องได้ไปผุดขึ้นที่บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ประชาชนได้อาราธนาอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ ณ วัดบางพลี ปรากฎว่ามีผู้คนเคารพนับถือมาก มีอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์เท่ากับหลวงพ่อพุทธโสธรเหมือนกัน


ส่วนพระพุทธรูปองค์กลางคือพระพุทธโสธรนน เมื่อลอยน้ำมาจากหัววนดังกล่าวแล้ว ก็ได้แสดงอภินิหารผุดขึ้นที่หน้าวัดโสธร ประชาชนเป็นจำนวนมากได้ช่วยกันฉุดขึ้นอีกแต่ก็ไม่เป็นผลสำเร็จ ขณะนั้นมีอาจาร์ยผู้หนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญทางไสยศาสตร์ ได้ทำพิธีตั้งศาลเพียงตาบวงสรวง แล้วเอาด้ายสายสิญจน์คล้องพระหัตถ์ของพระพุทธโสธรอาราธนาอัญเชิญขึ้นฝั่งได้ และได้อาราธนาไปประดิษฐานในพระวิหารวัดโสธรได้สำเร็จสมตามความปรารถนา จัดให้มีงานฉลองสมโภชอย่างใหญ่โตมโหฬารขึ้น ตรงกับบวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๕ และถวายนามตามชื่อวัดว่า หลวงพ่อพุทธโสธร พระพุทธโสธรนี้เมื่อได้มาครั้งแรกเป็นพระพุทธรูปทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ปางสมาธิ หน้าตักกว้าง ๑ ศอก เป็นพระพุทธรูปที่มีทรวดทรงงดงามมาก ครั้นต่อมาพระสงฆ์ในวัดนั้นเห็นว่าต่อไปภายหน้าฝูงชนที่มีใจบาปหยาบช้าเสื่อมจากศีลธรรม จะนำเอาไปทำประโยชน์ส่วนตัว กลัวจะไม่ปลอดภัย จึงได้เอาปูนพอกเสริมหุ้มองค์พระพุทธรูปเสีย เพื่อลวงตาเป็นพระพุทธรุปปูนธรรมดา หลวงพ่อพุทธโสธรนี้มีอภินิหารความศักดิ์สิทธิ์มากมายนัก ได้มีผู้คนไปนมัสการอธิษฐานบนบานขอให้คุ้มครองรักษาโรคภัยไข้เจ็บนานาประการ ปีหนึ่งๆ จะมีชาวไทยและชาวจีนทั่วทุกทิศานุทิศไปแก้บนกันมากต่อมาก กิตติศัพท์ของหลวงพ่อพระพุทธโสธรจึงได้แพร่สะพัดเลื่องลือไปทั่วทุกมุมเมือง เป็นที่รู้จักกันดีของมวลพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย คณะกรรมการวัดจึงได้จัดให้มีงานนมัสการหลวงพ่อพระพุทธโสธร : -
๑. งานเทศกาลกลางเดือน ๕ เริ่มวันขึ้น ๑๔ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ
๒. งานเทศกาลกลางเดือน ๑๒ เริ่มวันขึ้น ๑๒ ค่ำ ถึงแรม ๑ ค่ำ
๓. งานเทศกาลตรุษจีน เริ่มงานตามจันทรคติของจีน วันขึ้น ๑ ค่ำ (ชิวอิด) ถึงขึ้น ๕ ค่ำ (ชิวโหงว) 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น