วันเสาร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2554

ประวัติวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร金佛

คาถาบูชา พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร(หลวงพ่อทองคำ)
อิสวาสุ สวาสุอิ สุสวาอิ พุทัธปิติอิ นะชาลีติ ประสิทธิเม


ประวัตินามของวัด วัดไตรมิตรวิทยาราม เป็นวัดโบราณสร้างเมื่อใดไม่ปรากฎหลักฐาน เดิมชื่อว่า วัดจามจีนใต้ มีคำเล่ากันว่า วัดสามจีน เดิมมีอยู่สามวัด คือ วัดสามจีนที่อยู่ในคลองบางอ้อ ด้านตรงข้ามกับวัดเทเวศร์วัดหนึ่ง วัดสามจีนเหนือ บางท่านก็ว่า อยู่ที่บางขุนพรหม บางท่านก็ว่าอยู่ที่จังหวัดนนทบุรี สำหรับวัดที่อยู่บางขุนพรหม ได้แก่ วัดสังเวชวิศยาราม ส่วนที่อยู่จังหวัดนนทบุรีนั้นได้แก่ วัดโชติการาม อำเภอเมืองนนทบุรี และวัดสามจีนใต้ ได้แก่ วัดไตรมิตรวิทยาราม เหตุที่เรียกว่าวัดสามจีน ก็เนื่องด้วยว่า มีชาวจีน ๓ คน ได้ช่วยกันก่อสร้างขึ้นมาจึงได้นามว่า วัดสามจีน


ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ได้เปลี่ยนนามวัดสามจีนใต้มาเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม ทั้งนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติคุณของท่านแรกสร้างให้ยั่งยืนวัฒนายิ่งขึ้น และเป็นการเชิดชูอุสาหะวิริยะของท่านผู้สร้างและคณะกรรมการปรับปรุงวัด พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารีมหาเถร) วัดมหาธาตุ ได้เมตตาคิดค้นนามที่เป็นมงคลมาเฉลิมเพิ่มความสง่าให้แก่วัดสามจีนใต้ โดยเปลี่ยนนามเป็น วัดไตรมิตรวิทยาราม และกรมสามัญศึกษาได้เปลี่ยนนามโรงเรียนมัธยมวัดสามจีนใต้เป็น โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ตามนามวัดที่ได้เปลี่ยนใหม่ เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒


ครั้นถึงวันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๔๙๙ วัดไตรมิตรวิทยาราม ได้รับพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระบรมราชานุญาตให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร
พระอุโบสถหลังปัจจุบันนี้ เป็นพระอุโบสถที่ได้สร้างขึ้นใหม่เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๐ โดยมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เสด็จมาวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ หลวงวิศาลศิลปกรรม เป็นผู้ออกแบบพระอุโบสถ การก่อสร้างเป็น เฟอร์โรคอนกรีตทรงจตุรมุข หลังคาสามชั้นมีชานรอบพระอุโบสถ บานพระตู หน้าต่าง เขียนลายรดน้ำ และพระอุโบสถหลังใหม่นี้ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใหม่ เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ กว้าง ๔๐ เมตร ยาว ๘๐ เมตร ประกอบการผูกพัทธสีมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๓


ประวัติพระสุโขทัยไตรมิตร
ชื่อ พระสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธรูปทอง
สถานที่ประดิษฐาน พระวิหาร วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพมหานคร
ลักษณะศิลปะ ศิลปะสุโขทัย ปางมารวิชัย
วัสดุ ทองคำ เป็นทองเนื้อเจ็ดน้ำสองขา
ขนาด หน้าตักกว้าง ๖ ศอก ๕ นิ้ว สูง ๗ ศอก ๑ คืบ ๙ นิ้ว
ประวัติ
พระสุโขทัยไตรมิตร หรือ พระพุทธรูปทอง เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามสมบูรณ์ สันนิษฐานว่าพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัยโปรดให้ประชุมช่างหล่อขึ้น เมื่อสร้างเสร็จก็โปรดให้สร้างพระวิหารหลวง วัดมหาธาตุขึ้นกลางกรุงสุโขทัย เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองดังศิลาจารึกหลักที่ ๑ ว่า "กลางเมืองสุโขทัยนี้มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารส มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันงาม" 
พ.ศ.๑๙๒๐ สมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ยกทักไปทำสงครามกับพระมหาธรรมราชา (ไสยฦาไท) พระมหาธรรมราชาออกมาถวายบังคมยอมเป็นเมืองขึ้น กรุงสุโขทัยจึงตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยานับแต่นั้นเป็นต้นมา
พระสุโขทัยไตรมิตรคงจะได้รับการอัญเชิญามาจากกรุงสุโขทัย ซึ่งการอัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรลงมานี้มีข้อสันนิษฐานสามประการ คือ ประการที่หนึ่ง มีผู้อาราธนาลงมาจากกรุงสุโขทัยโดยเลื่อมใสศรัทธา ประการที่สอง ใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียเอกราชแก่พม่า พระสุโขทัยไตรมิตรอาจได้รับการอัญเชิญจากสุโขทัยในครั้งนั้น ประการที่สาม บุคคลใดบุคคลหนึ่งอัญเชิญลงในในราวต้นรัชกาลที่ ๑ หรือในรัชกาลที่ ๓ เพราะในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯ ให้ปฎิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๒ และมีพระบรมราชโองการให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ขึ้นไปอัญเชิญพระพุทธรูปตามวัดร้างในกรุงสุโขทัย และหัวเมืองเหนือทั้งปวงมายังกรุงเทพฯ เป็นจำนวนถึง ๑,๒๔๘ องค์ พระสุโขทัยไตรมิตรอาจจะได้รับการอัญเชิญลงมาจากสุโขทัยในคราวนี้ด้วย เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปที่งดงามจึงนำไปไว้บูชาเสียเองในวัดที่ตนสร้างขึ้น ต่อมาได้นำมาประดิษฐานไว้ที่วัดโชตินาราม (วัดพระยาไกร) ซึ่งพระยาโชฏึกราชเศรษฐี (เจ้าสัวบุญมา) เป็นผู้สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แล้วถวายเป็นพระอารามหลวง พระสุโขทัยไตรมิตร ที่อัญเชิญมาในครั้งนั้น มีลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นซึ่งสันนิษฐานว่าคงจะมีสาเหตุ ๓ ประการ คือ
๑. เอาปูนปั้นหุ้มไว้ตั้งแต่สมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยาขึ้นไปทำสงครามกับกรุงสุโขทัย เมื่อกรุงสุโขทัยตกเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา จึงเกรงว่าสมเด็จพระบรมราชาธิราชจะอัญเชิญพระพุทธรูปลงมากรุงศรีอยุธยา
๒. พ.ศ. ๒๓๑๐ กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า วัดและพระพุทธรูปถูกเผาสำรอกเอาทองไป ด้วยเหตุนี้พุทธศาสนิกชนที่กลัวพระพุทธรูปทององค์นี้จะถูกเผาสำรองเอาทองไป จึงได้เอาปูนปั้นพอกเสีย
๓. ขุนนางผู้ใหญ่ที่ขึ้นไปพบ เห็นว่าพระพุทธรูปมีพุทธลักษณะงดงาม ก็ได้อัญเชิญมาประดิษฐานในวัดแห่งสกุลของตน แล้งจึงปั้นปูนพอกปิดพระพุทธรูปทองนั้นเสีย


พ.ศ. ๒๔๗๘ วัดโชตนารามมีสภาพเป็นวัดร้าง และบริษัทอิสเอเซียติ๊กเช่าที่วัดทำโรงเลื่อยจักร สมเด็จพระวันรัต (เฮง เขมจารี) เจ้าคณะแขวงล่าง และสมเด็จพระวันรัต (ปลด กิตติโสภโณ) ได้ให้คณะกรรมการวัดสามจีน (วัดไตรมิตรวิทยาราม) ได้แก่ พระมหาเจียม กมโล พระวีรธรรมมุนี (ไสว ฐิตวีโร) น.อ.หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) ร.น. หลวงบริบาลเวชกิจ (ยู้ ลวางกูล) นายสนิท เทวินทรภักติ ไปอัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรจากวัดโชตินารามมาประดิษฐานข้างพระเจดีย์วัดสามจีน ในฐานะที่วัดสามจีนเป็นวัดใต้ปกครองของเจ้าคณะปกครองแขวงล่าง ต่อมาเมื่อได้มีการบูรณปฎิสังขรณ์วัดสามจีนและเปลี่ยนชื่อเป็นวัดไตรมิตรวิทยาราม และทำพิธีเปิดป้ายเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๒ แล้ว พระวีรธรรมมุนี ได้ดำริสร้างพระวิหาร เพื่อประดิษฐานพระสุโขทัยไตรมิตร เมื่อสร้างเสร็จคณะกรรมการวัดได้พยายามยกพระสุโขทัยไตรมิตรเพื่อไปประดิษฐานบนพระวิหารหลายหนก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จนกระทั่งวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ฝนตกตอนใกล้รุ่ง พระวีรธรรมมุนีพบว่าปูนตรงพระอุระแตกกะเทาะลงมาเห็นรักปิดทองอยู่ชั้นหนึ่ง จึงให้พระภิกษุสามเณรช่วยกันกะเทาะปูนที่ปิดหุ้มองค์พระไว้นั้นออก จึงเป็นทองตลอดทั้งองค์ เมื่อจะอัญเชิญไปประดิษฐานบนพระวิหารและเพื่อให้น้ำหนักในการยกน้อยลง จึงได้คุ้ยเอาดินใต้ฐานทับเกษรตรออก ก็พบกุญแจกลสำหรับถอดองค์พระออกเป็นตอนๆ ได้ ๙ แห่ง เพื่อสะดวกในการถอดอัญเชิญขึ้นไปประดิษฐาน จึงได้ถอดออกเพียง ๔ ส่วน คือ พระศอ พระหัตถ์ทั้ง ๒ ข้าง พระนาภี สำหรับอีก ๕ ส่วนนั้นไม่ได้ถอดออกคงรักษาไว้ให้คนทั้งหลายได้ชมฝีมือช่างสมัยโบราณ กุญแจกลเหล่านี้ผู้หล่อดั้งเดิมได้ใส่ทองคำสำรองมาให้ครบถ้วน รวมทั้งมุกที่ใส่พระเนตรด้วย


เมื่ออัญเชิญพระสุโขทัยไตรมิตรขึ้นไปประดิษฐานบนพระวิหารแล้ว วัดไตรมิตรวิทยารามได้จัดงานฉลองสมโภชในวันศุกร์ที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ ต่อมา พ.ศ. ๒๕๓๕ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานนามพระสุโขทัยไตรมิตรว่า พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร 


การขึ้นทะเบียน กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณวัตถุสถาน ในราชกิจจานุเบกษาเล่ม ๗๓ ตอนที่ ๒๑ วันที่ ๑๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๙

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น